ภูมิหลัง ของ วิกฤตรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ค.ศ. 1975

ภูมิหลังทางรัฐธรรมนูญ

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จอห์น เคอร์นายกรัฐมนตรี กอฟ วิทแลมผู้นำฝ่ายค้าน มัลคอล์ม เฟรเซอร์

ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย รัฐสภาออสเตรเลียใช้ระบบสภาคู่ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขฝ่ายบริหาร มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นผู้แทนพระองค์ในการลงพระปรมาภิไธย ถือครองอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ[1] ทั้งยังมีอำนาจที่สงวนไว้[2] คืออำนาจที่ผู้สำเร็จราชการสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องได้รับคำแนะนำ[3]

ภายใต้รัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ผู้สำเร็จราชการฯ ปฏิบัติตามคำแนะนำของสภาบริหารส่วนกลางในการแต่งตั้งรัฐมนตรี แต่รัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตามอัธยาศัยของผู้สำเร็จราชการฯ และผู้สำเร็จราชการฯ มีอำนาจแต่งตั้งสภาบริหารฯ แต่เพียงผู้เดียว[4] โดยปกติแล้ว ผู้สำเร็จราชการฯ ถูกผูกมัดตามธรรมเนียมให้กระทำการใดๆ ตามคำแนะนำของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่สามารถใช้อำนาจที่สงวนไว้โดยไม่ต้องรอหรือปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาล[5] ผู้สำเร็จราชการฯ สามารถพ้นจากจากตำแหน่งโดยพระราชโองการจากสมเด็จพระราชินีนาถตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ ดังที่หัวหน้าพรรคเสรีนิยม มัลคอล์ม เฟรเซอร์ ผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้กล่าวไว้ว่า "สมเด็จพระราชินีนาถมีสิทธิในการดำรงตำแหน่ง พระองค์ไม่อาจถูกปลดจากตำแหน่งได้ แต่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ถวายงานรับใช้ตามพระราชอัธยาศัย เมื่อใดไม่ทรงมีพระราชอัธยาศัยแล้ว นายกรัฐมนตรีก็สามารถปลดได้"[6]

ประเทศออสเตรเลียมีลักษณะทางการเมืองคล้ายกับประเทศส่วนใหญ่ที่มีรัฐสภาระบบเวสต์มินสเตอร์ คือตามปกติแล้ว รัฐบาลออสเตรเลียจะถูกจัดตั้งโดยพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากหรือได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกรัฐสภาในสภาล่าง ซึ่งก็คือสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม รัฐสภาออสเตรเลียยังมีสภาบนที่มีอำนาจมาก คือวุฒิสภา ซึ่งมีอำนาจในการผ่านร่างกฎหมายทุกฉบับที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ร่างกฎหมายถูกตราเป็นพระราชบัญญัติได้อย่างสมบูรณ์

วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นตัวแทนของรัฐในออสเตรเลีย โดยที่แต่ละรัฐจะมีผู้แทนในจำนวนเท่ากัน ไม่ว่าจะมีจำนวนประชากรต่างกันเท่าไรก็ตาม ซึ่งเป็นเจตนาของผู้เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อดึงดูดให้อาณานิคมต่าง ๆ ในทวีปออสเตรเลียมารวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐเดียว[7] รัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้วุฒิสภายื่นร่างต้นฉบับหรือร่างแก้ไขพระราชบัญญัติงบประมาณ แต่ไม่ได้จำกัดให้วุฒิสภาไม่สามารถตีตกร่างกฎหมายดังกล่าวได้

ในปี 1970 กอฟ วิทแลม ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ได้กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณดังนี้

"ผมขอพูดอย่างชัด ๆ ตั้งแต่ต้นว่าการคัดค้านร่างงบประมาณฉบับนี้ของเรา ไม่ได้ทำแค่พอเป็นพิธี เราตั้งใจจะคัดค้านให้ถึงที่สุด ด้วยทุกวิถีทางที่เรามีในทุก ๆ มาตรา ในทั้งสองสภา ถ้าญัตติถูกตีตก เราก็จะลงคะแนนคัดค้านร่างพระราชบัญญัติทั้งในสภานี้และในวุฒิสภา จุดมุ่งหมายของเราคือการทำลายร่างงบประมาณนี้และทำลายรัฐบาลที่สนับสนุนร่างนั้น"[8]

จนถึงปี 1975 วุฒิสภาระดับสหพันธรัฐก็ยังไม่เคยยับยั้งร่างงบประมาณมาก่อน ถึงแม้ว่าฝ่ายค้านจะมีเสียงข้างมากอยู่ก็ตามที ในปี 1947 สภาบนของรัฐสภารัฐวิคตอเรียยับยั้งร่างงบประมาณเพื่อกดดันให้มีการเลือกตั้งก่อนที่จะหมดวาระ มุขมนตรี จอห์น เคน จึงประกาศให้มีการเลือกตั้งและประสบกับความพ่ายแพ้[9][10]

ก่อนวิกฤต ค.ศ. 1975 ไม่เคยมีการใช้อำนาจสงวนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในการปลดนายกรัฐมนตรีโดยที่นายกรัฐมนตรีเองไม่ยินยอมมาก่อน ซึ่งเป็นอำนาจตามบทบัญญัติมาตรา 64 ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในปี 1904 คริส วัตสัน นายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงาน เสนอแนะให้มีการจัดการเลือกตั้งก่อนหมดวาระ แต่ผู้สำเร็จราชการ ลอร์ด นอร์ธโคท ปฏิเสธ ทำให้วัตสันลาออกจากตำแหน่ง แล้วจอร์จ รีด ผู้นำฝ่ายค้าน ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทน[11]

ตั้งแต่ที่ก่อตั้งสหพันธรัฐขึ้นมา เคยเกิดความขัดแย้งในระดับรัฐระหว่างมุขมนตรีของรัฐกับผู้ว่าราชการรัฐ ซึ่งมีหน้าที่และบทบาทล้อกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระดับสหพันธรัฐ ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวมีผลให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องออกจากตำแหน่ง ในปี 1916 มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ วิลเลียม ฮอลแมน ถูกไล่ออกจากพรรคแรงงานออสเตรเลีย เพราะทำการสนับสนุนการเกณฑ์ทหาร ฮอลแมนสามารถรั้งอยู่ในตำแหน่งได้ด้วยการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านและทำการปรึกษาผู้ว่าราชการรัฐ เซอร์ เจอรัลด์ สตริคแลนด์ ว่าจะเสนอให้ผ่านร่างกฎหมายเพื่อขยายวาระของสภานิติบัญญัติรัฐนิวเซาท์เวลส์ออกไปอีก 1 ปี เมื่อสตริคแลนด์คัดค้านโดยให้เหตุผลว่าการทำเช่นนั้นจะไม่เป็นธรรมต่อพรรคแรงงานมากเกินไป ฮอลแมนจึงจัดการให้มีผู้ว่าราชการรัฐคนใหม่มาแทน[12] ต่อมาในปี 1932 มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ แจ็ค แลงก์ จากพรรคแรงงาน ปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินที่เป็นหนี้สินกับรัฐบาลกลาง ทำให้รัฐบาลกลางทำการอาญัติบัญชีธนาคารของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ส่งผลให้แลงก์มีคำสั่งให้การจ่ายเงินต่อรัฐบาลของรัฐเป็นเงินสดเท่านั้น ผู้ว่าราชการรัฐ เซอร์ ฟิลิป เกม เขียนถึงแลงก์ เพื่อเตือนว่าคณะรัฐมนตรีของเขากำลังทำผิดกฎหมาย และถ้าแลงก์ยังดึงดันที่จะทำแบบนี้ต่อไป เขาก็จำเป็นจะต้องหาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะสามารถทำการบริหารภายใต้กรอบของกฎหมายได้ แลงก์ยืนยันว่าเขาจะไม่ลาออก ส่งผลให้เกมสั่งปลดรัฐมนตรีทั้งคณะ และแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้าน เบอร์แทรม สตีเวนส์ ขึ่นมาเป็นรักษาการมุขมนตรีระหว่างรอการเลือกตั้ง ผลคือพรรคแรงงานแพ้การเลือกตั้งไปในครั้งนั้น[13]

ในบรรดาอำนาจที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มี หนึ่งในนั้นคืออำนาจในการยุบทั้งสองสภา โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 57 ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฏรผ่านร่างพระราชบัญญัติ 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน แล้ววุฒิสภาลงคะแนนไม่ผ่านร่างนั้นทั้ง 2 ครั้ง ในทั้ง 2 กรณีที่เคยเกิดเหตุที่ตรงกับเงื่อนไขนี้ก่อนที่จะเป็นรัฐบาลวิทแลม คือในปี 1914 และ 1951 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประกาศยุบสองสภาและประกาศให้มีการเลือกตั้งทั้งสองสภาตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี[14]

ภูมิหลังทางการเมือง

รัฐบาลพรรคแรงงานของ กอฟ วิทแลม ได้รับการเลือกตั้งในปี 1972 หลังจากที่มีรัฐบาลพันธมิตรพรรค (Coalition) ประกอบด้วยพรรคเสรีนิยมและพรรคชนบทบริหารราชการแผ่นดินมา 23 ปี รัฐบาลพรรคแรงงานได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมา 9 ที่นั่ง[15] แต่ไม่มีเสียงข้างมากในวุฒิสภา[16]ที่ถูกเลือกตั้งเข้ามาในการเลือกตั้งวุฒิสภาออสเตรเลีย ค.ศ. 1967 และ ค.ศ. 1970 โดยการเลือกตั้งวุฒิสภาในสมัยนั้นยังคงไม่ตรงกับการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฏรอยู่

ตามที่ได้สัญญาไว้ก่อนชนะเลือกตั้ง รัฐบาลวิทแลมได้ทำการเปลี่ยนแปลงนโยบายและออกกฎหมายใหม่เป็นจำนวนมาก พรรคฝ่ายค้านที่คุมวุฒิสภาอยู่ ยอมให้ร่างกฎหมายบางฉบับจากรัฐบาลผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ในขณะเดียวกันก็ยับยั้งร่างกฎหมายฉบับอื่น ๆ[17]

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1974 หลังจากที่ความพยายามที่จะผ่านร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณถูกยับยั้งในวุฒิสภาโดยฝ่ายค้านที่นำโดยบิลลี สเน็ดเด็นหลายต่อหลายครั้ง วิทแลมจึงขอความเห็นชอบและได้รับความเห็นชอบจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น เซอร์ พอล แฮสลัค ในการยุบสองสภา[18] ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พรรคแรงงานได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งโดยที่นั่งลดลง 5 เสียง ส่วนในวุฒิสภา ทั้งพันธมิตรพรรคและพรรคแรงงานมี 29 เสียงเท่ากัน และมีวุฒิสมาชิกอิสระอีก 2 เสียงเป็นผู้กุมสมดุลอำนาจไว้อยู่[19]

ในเวลาต่อมา สเน็ดเด็นบอกกับผู้เขียน แกรห์ม ฟรอยเดนเบิร์ก ระหว่างการสัมภาษณ์ว่า "การกดดันให้ยับยั้งร่างงบประมาณมาทางผม จากดัก แอนโธนี พวกเราคิดว่าถ้าคุณมีโอกาสในการได้เสียงข้างมากในวุฒิสภาในการเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภา หรืออย่างน้อยก็ให้มีเสียงมากพอที่จะผ่านร่างกฎหมายกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ ถ้าทำเจอร์รีแมนเดอริงด้วย คุณก็จะได้อยู่ในสภาตลอดไป"[20]

แฮสลัคเป็นผู้สำเร็จราชการฯ มาตั้งแต่ปี 1969 และวาระของเขากำลังจะหมดลงในไม่ช้า วิทแลมอยากให้เขาอยู่ต่ออีก 2 ปี แต่แฮสลัคปฏิเสธ โดยอ้างว่าภรรยาของเขาปฏิเสธที่จะพำนักอยู่ที่ยาร์ราลัมลาเกิน 5 ปีตามที่เคยตกลงกันไว้[21] วิทแลมเสนอตำแหน่งให้กับนักธุรกิจ เคน ไมเออร์ แต่ถูกปฏิเสธ วิทแลมจึงเสนอตำแหน่งนี้ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แฟรงค์ เครียน และรองนายกรัฐมนตรี แลนซ์ บาร์นาร์ด แต่ทั้งสองคนต่างยังไม่พร้อมที่จะวางมือจากการเป็น ส.ส. ในรัฐสภา[22] ในท้ายที่สุด วิทแลมจึงเสนอตำแหน่งให้กับเซอร์ จอห์น เคอร์ ประธานศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ตอนแรกเคอร์ลังเลที่จะยกตำแหน่งประธานศาล ซึ่งตอนนั้นเขาตั้งใจว่าจะดำรงตำแหน่งให้ครบ 10 ปี เพื่อแลกกับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ตามธรรมเนียมแล้วมีวาระ 5 ปี ตามคำขอของเคอร์ วิทแลมจึงตกลงอย่างไม่เป็นทางการว่าถ้าทั้งสองคนยังอยู่ในตำแหน่งในอีก 5 ปี เขาจะให้เคอร์ได้ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัย วิทแลมยังจัดการให้ผ่านกฎหมายให้มีบำนาญสำหรับผู้สำเร็จราชการฯ หรือหม้ายของผู้สำเร็จราชการฯ เพื่อบรรเทาความกังวลด้านการเงินของเคอร์ ผู้นำฝ่ายค้าน บิลลี สเน็ดเด็น เห็นดีเห็นงามกับการแต่งตั้งนี้และตกลงที่จะแต่งตั้งเคอร์ให้ได้ดำรงตำแหน่งอีกสมัยเช่นกัน ถ้าเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีในอีก 5 ปี ทำให้เคอร์ตกลงที่จะรับตำแหน่ง ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี และเคอร์ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1974[23]

ร่างพระราชบัญญัติ 6 ฉบับที่กำลังเข้าสู่เงื่อนไขให้เกิดการยุบสองสภา ถูกยื่นในรัฐสภาเป็นครั้งที่สาม และถูกตีตกไปอีกครั้งตามคาด บทบัญญัติมาตรา 57 ในรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า หลังจากที่มีการเลือกตั้งอันเนื่องด้วยการยุบสองสภา หากร่างพระราชบัญญัติที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา 2 ครั้งก่อนการเลือกตั้งไม่ผ่านความเห็นชอบเป็นครั้งที่ 3 จะสามารถนำร่างพระราชบัญญัตินั้นเข้าสู่ที่ประชุมร่วมที่ประกอบด้วยทั้งสองสภา ในวันที่ 30 กรกฎาคม วิทแลมได้รับความเห็นชอบจากเคอร์ให้มีการจัดประชุมร่วมในวันที่ 6-7 สิงหาคม ค.ศ. 1974 ทำให้มีการประชุมร่วมตามมาตรา 57 เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย ผลคือร่างกฎหมายทั้ง 6 ฉบับผ่านความเห็นชอบของที่ประชุม[24]

เรื่องอื้อฉาวและตำแหน่งที่ว่างลง

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1974 วิทแลมประสบปัญหาในการหาแหล่งเงินทุนใหม่สำหรับแผนพัฒนาประเทศ หลังจากการประชุมที่เดอะลอดจ์ ทำเนียบประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วิทแลมและรัฐมนตรี 3 คน (รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จิม แคนส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและวุฒิสมาชิก ลิโอเนล เมอร์ฟี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแร่และพลังงาน เร็กซ์ คอนเนอร์ ลงนามในหนังสืออนุญาตให้คอนเนอร์กู้เงิน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้สื่อข่าวและนักเขียน อลัน รีด กล่าวว่าเอกสารดังกล่าวเปรียบเสมือน "คำสั่งประหารชีวิต" ของรัฐบาลพรรคแรงงานของวิทแลม[25]

คอนเนอร์และรัฐมนตรีคนอื่น ๆ พยายามที่จะติดต่อกับนักการเงินชาวปากีสถาน ทิรัธ เคมลานี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1974 โดยเคมลานีอ้างว่าตนมีคนรู้จักที่สนใจจะลงทุนจากกลุ่มประเทศอาหรับที่เพิ่งร่ำรวยเพราะน้ำมัน[26] หากแต่ความพยายามที่จะกู้เงิน ไม่ว่าจะผ่านเคมลานีหรือผ่านทางอื่น สุดท้ายก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่งกรณีนี้กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวและถูกฝ่ายค้านวิพากย์วิจารณ์อย่างหนัก ส่งผลให้รัฐบาลเสียคะแนนความนิยมจากประชาชน[27]

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1975 วิทแลมตัดสินใจที่จะแต่งตั้งให้วุฒิสมาชิกเมอร์ฟีขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลสูงออสเตรเลีย แม้ว่าที่นั่งของเมอร์ฟีในวุฒิสภาจะยังไม่ถึงวาระเลือกตั้งในการเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภาครั้งถัดไป ภายใต้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน พรรคแรงงานชนะ 3 ใน 5 ของที่นั่งในรัฐนิวเซาท์เวลส์ แต่ถ้าที่นั่งของเมอร์ฟีว่างลง การที่พรรคแรงงานจะชนะ 4 ใน 6 ที่นั่งนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ดังนั้นการแต่งตั้งเมอร์ฟีจะทำให้พรรคแรงงานต้องเสียที่นั่งในวุฒิสภาไป 1 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างแน่นอน[28] อย่างไรก็ตาม วิทแลมยังคงตัดสินใจที่จะแต่งตั้งเมอร์ฟีอยู่ดี โดยธรรมเนียมแล้ว เมื่อตำแหน่งของวุฒิสมาชิกว่างลง สภานิติบัญญัติของรัฐควรแต่งตั้งวุฒิสมาชิกคนใหม่ที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกัน ทอม ลิววิส มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ที่มาจากพรรคเสรีนิยม เชื่อว่าธรรมเนียมดังกล่าวควรทำตามเฉพาะในกรณีที่ตำแหน่งว่างลงเพราะผู้ดำรงตำแหน่งเสียชีวิตหรือมีปัญหาทางทางสุขภาพเท่านั้น จึงจัดการให้สภานิติบัญญัติของรัฐเลือกคลีเวอร์ บันตัน อดีตนายกเทศมนตรีเมืองอัลบูรีที่ไม่สังกัดพรรคใด ๆ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนเมอร์ฟี[29]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1975 สมาชิกรัฐสภาของพรรคเสรีนิยมหลายคนเชื่อว่าสเน็ดเด็นปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ไม่ดีพอ และถูกเอาชนะโดยวิทแลมอยู่หลายครั้งในสภาผู้แทนราษฎร มัลคอล์ม เฟรเซอร์จึงประกาศท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคของสเน็ดเด็นในวันที่ 21 มีนาคม และเอาชนะสเน็ดเด็นด้วยคะแนน 37 ต่อ 27[30] ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังจากที่ชนะการท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เฟรเซอร์ได้กล่าวว่า

ว่าด้วยคำถามเกี่ยวกับงบประมาณ ผมขอตอบดังนี้ ผมเชื่อว่ารัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งในสภาล่างที่มีเสียงข้างมากและสามารถรักษาเสียงข้างมากในสภาล่างได้ มีสิทธิ์ที่จะอยู่บริหารจนครบวาระ 3 ปี นอกจากจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดาเกิดขึ้น  ถึงอย่างนั้นแล้ว ... ในภายภาคหน้า หากพวกเราตัดสินใจว่ารัฐบาลตกต่ำลงเสียจนฝ่ายค้านต้องใช้อำนาจใดๆ ก็ตามที่มีในการโค่นล้มรัฐบาล ผมก็อยากจะอยู่ในสถานการณ์ที่คุณวิทแลมตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่งแล้วพบว่าฝ่ายค้านได้ตัดสินใจไปแล้ว และพบว่าตัวเขาเองถูกตลบหลังจนไม่ทันตั้งตัวแม้แต่น้อย[31]

แลนซ์ บาร์นาร์ด รองนายกรัฐมนตรีคนก่อนของรัฐบาลวิทแลม ถูกท้าชิงและเอาชนะโดยนายแคนส์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1974 หลังจากการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1974 ไม่นาน หลังจากนั้นวิทแลมจึงเสนอตำแหน่งฑูตให้กับบาร์นาร์ด ซึ่งบาร์นาร์ดตกลงรับในช่วงต้นปีของ ค.ศ. 1975 ถ้าการแต่งตั้งสำเร็จ บาร์นาร์ดจะต้องลาออกจากตำแหน่งสมาชิกผู้แทนราษฎรซึ่งจะทำให้เกิดการเลือกตั้งซ่อมในเขตเลือกตั้งเบสในรัฐแทสเมเนีย สมาชิกพรรคแรงงานคิดว่าบาร์นาร์ดควรดำรงตำแหน่ง ส.ส. ต่อไป เนื่องจากสภาพอ่อนแอของพรรคในขณะนั้น และถ้าเขาตัดสินใจลาออกก็ไม่ควรได้รับการแต่งตั้งใด ๆ บ็อบ ฮอว์ก ประธานพรรคและผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอนาคต กล่าวว่าการตัดสินใจแต่งตั้งบาร์นาร์ดเป็นการกระทำที่บ้าคลั่ง[32] บาร์นาร์ดเสียคะแนนความนิยมอย่างต่อเนื่องในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา และพรรคเสรีนิยมต้องการคะแนนเพิ่มอีกแค่ 4% เท่านั้นก็จะชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไปในเขตเบส พรรคเสรีนิยมมีเควิน นิวแมน เป็นผู้สมัครที่มีปฏิสัมพันธ์กับฐานเสียงอยู่แล้ว ในขณะที่พรรคแรงงานยังไม่มีตัวแทนและจะมีการคัดเลือกผู้แทนภายในพรรคที่คาดว่าจะเป็นไปอย่างดุเดือด[33] ท้ายที่สุดแล้ว นายบาร์นาร์ดลาออกและได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชฑูตสวีเดน การเลือกตั้งในวันที่ 28 มิถุนายนกลายเป็นความหายนะของพรรคแรงงานโดยนายนิวแมนชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงห่างถึง 17%[34]

ในสัปดาห์ถัดมา วิทแลมปลดแคนส์ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากแคนส์จงใจชี้นำรัฐสภาให้เข้าใจผิดในกรณีเงินกู้เคมลานี ทั้งยังมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับเลขานุการรัฐมนตรี จูนี เมโรซี โดยแฟรงค์ เครียน ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีแทน[35] ในขณะที่แคนส์ถูกปลด ในเวลาเดียวกันนั้นก็มีวุฒิสมาชิกว่างลง 1 ตำแหน่งหลังจากวุฒิสมาชิกเบอร์ที มิลลิเนอร์จากพรรคแรงงานออสเตรเลียในรัฐควีนส์แลนด์ได้ถึงแก่อนิจกรรม ตามธรรมเนียมแล้ว เมื่อตำแหน่งวุฒิสมาชิกว่างลงเนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งป่วยไข้หรือถึงแก่อนิจกรรม พรรคการเมืองของวุฒิสมาชิกที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนจะเป็นพรรคที่เสนอชื่อตัวแทนต่อสภา พรรคแรงงานของรัฐควีนส์แลนด์จึงเสนอชื่อมัล โคลสตัน สมาชิกของพรรคที่อยู่ลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคประจำปี 1974 ในรัฐควีนส์แลนด์

การเสนอชื่อนี้ทำให้เกิดสภาวะทางตันในรัฐสภาควีนส์แลนด์ เนื่องจากโจ เบลย์เคอ-ปีเตอร์เซน มุขมนตรีแห่งรัฐควีนส์แลนด์จากพรรคชนบท กล่าวหาว่าโคลสตันเป็นผู้ลงมือวางเพลิงโรงเรียนในขณะที่ประกอบอาชีพเป็นครูและมีข้อพิพาทแรงงาน[36] ทำให้รัฐสภาควีนส์ลงคะแนนไม่ผ่านญัตติเสนอชื่อที่พรรคแรงงานยื่นไปทั้ง 2 ครั้ง พรรคแรงงานปฏิเสธที่จะเสนอคนอื่นมาแทน[37] เบยล์เคอ-ปีเตอร์เซนจึงเสนอให้พรรคของเขาซึ่งเป็นเสียงข้างมากในสภาลงคะแนนเลือกอัลเบิร์ต ฟีลด์ สมาชิกระดับล่างในพรรคแรงงานที่ติดต่อสำนักมุขมนตรีและแสดงความประสงค์ที่จะเข้ารับตำแหน่ง ฟีลด์ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเขาจะไม่สนับสนุนวิทแลม ฟีลด์จึงถูกขับออกจากพรรคเนื่องจากชิงตำแหน่งจากโคลสตัน และวุฒิสมาชิกพรรคแรงงานคว่ำบาตรพิธีถวายสัตย์ของฟีลด์[37] วิทแลมให้ความเห็นว่าการที่รัฐสภาควีนส์แลนด์คัดสรรผู้มาดำรงตำแหน่งแทนในลักษณะนี้ เป็นผลให้วุฒิสภา "ทุจริต" และ "มีมลทิน" เพราะฝ่ายค้านได้เสียงข้างมากทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากประชาชนในการเลือกตั้ง[38] เมื่อพรรคแรงงานทราบว่าฟีลด์ไม่ได้แจ้งต่อกระทรวงการศึกษาของรัฐควีนส์แลนด์ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 สัปดาห์ก่อนเข้ารับตำแหน่ง เขาจึงยังคงมีสถานะเป็นข้าราชการ ซึ่งขัดต่อคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา และยื่นคำร้องต่อศาลสูงเพื่อเรียกร้องให้การแต่งตั้งฟีลด์เป็นโมฆะ เป็นเหตุให้ฟีลด์ลาการประชุม อย่างไรก็ตาม พันธมิตรพรรคปฏิเสธที่จะเสนอวุฒิสมาชิกจากฝั่งตนเองให้ลาการประชุมเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นธรรมเนียมของรัฐสภาออสเตรเลียในกรณีที่สมาชิกสภาของฝั่งตรงข้ามมีเหตุให้ลา ทำให้พันธมิตรพรรคมีเสียงข้างมาก 30 ต่อ 29 เสียงในวุฒิสภา[39]

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิกฤตรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ค.ศ. 1975 http://www.crikey.com.au/2015/11/11/what-the-queen... http://www.theage.com.au/national/how-one-strong-w... http://www.theage.com.au/news/general/nothing-will... http://www.theaustralian.com.au/in-depth/cabinet-p... http://www.theaustralian.com.au/news/inquirer/whit... http://adb.anu.edu.au/biography/cain-john-9661 http://primeministers.naa.gov.au/primeministers/wa... http://www.nla.gov.au/amad/nla.oh-vn1791129?search... http://www.abc.net.au/7.30/content/2005/s1479968.h... http://www.abc.net.au/am/content/2005/s1499058.htm